5/16/2553

การนับศักราชและการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์สากลและไทย

การแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์สากล
1 จุดมุ่งหมายในการแบ่งช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์เป็นยุคสมัยต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของมนุษย์ในอดีต และช่วยให้เข้าใจง่าย ช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ตามแบบสากลแบ่งออกเป็น 2 สมัย ดังนี้

1.1 สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์ยังไม่รู้จักประดิษฐ์ตัวอักษรเหมือนตัวหนังสือขึ้นใช้ จึงยังไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นลายลักษณ์อักษร การศึกษาเรื่องราวของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จึงต้องอาศัยการวิเคราะห์และตีความจากหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบ เช่น โครงกระดูกของมนุษย์ เครื่องมือ เครื่องใช้ และเครื่องประดับที่ทำจากหินและโลหะ เป็นต้นสมัยก่อนประวัติศาสตร์ แบ่งได้เป็น 2 ชุด คือ ยุคหินและยุคโลหะ

1.1.1 ยุคหิน เริ่มเมื่อประมาณ 500,000 ถึง 4,000 ปี ล่วงมาแล้ว แบ่งเป็น 3 ยุคย่อย ๆ ดังนี้

( 1 ) ยุคหินเก่า เป็นช่วงเวลาแรก ๆ ของมนุษย์ชาติ มนุษย์ใช้ชีวิตอย่างเร่ร่อน ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการล่าสัตว์ จับปลา หาของป่ากินเป็นอาหาร อาศัยอยู่ในถ้ำ รู้จักใช้เครื่องมือที่ทำด้วยหินอย่างหยาบๆ และเขียนภาพตามฝาผนัง

( 2 ) ยุคหินกลาง มนุษย์ยังคงดำรงชีวิตเหมือนในยุคหินเก่า แต่รู้จักทำเครี่องมือเครื่องใช้สำหรับล่าสัตว์ด้วยหินที่ประณีตมากขึ้น และเริ่มรู้จักการอยู่รวมกลุ่มเป็นสังคมมากขึ้น

( 3 ) ยุคหินใหม่ มนุษย์มีความเจริญมากกว่ายุคก่อนๆ รู้จักตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งรู้จักการเพราะปลูก เลี้ยงสัตว์ ทำภาชนะเครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับ และเครื่องมือล่าสัตว์หินขัด

1.1.2 ยุคโลหะ อยู่ในช่วงเวลาประมาณ 4,000 ถึง 1,500 ปีล่วงมาแล้ว แบ่งเป็น 2 ยุคย่อยๆ ดังนี้

( 1 ) ยุคสำริด มนุษย์รู้จักใช้โลหะสำริด (ทองแดงผสมดีบุก) ทำเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าในยุคหิน อาศัยอยู่รวมกันเป็นชุมชนใหญ่ขึ้น รู้จักปลูกข้าว และเลี้ยงสัตว์ ( หมูและวัว )

( 2 ) ยุคเหล็ก มนุษย์รู้จักนำเหล็กมาหลอมทำอาวุธ เครื่องมือ เครื่องใช้ ๆ แต่ยังคงดำรงชีวิตด้วยการเกสรกรรม มีการติดต่อขายระหว่างชุมชนต่าง ๆ ทำให้ความเจริญขยายตัวอย่างรวดเร็ว

2.2 สมัยประวัติศาสตร์ เป็นยุคสมัยที่มนุษย์รู้จักประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใช้ มีการบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ความเชื่อ และกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เป็นลายลักษร มักพบอยู่ตามผนังถ้ำ แผ่นหิน แผ่นดินเหนียว และกระดาษ เป็นต้นชุมชนของมนุษย์ในภูมิภาคต่างๆ ก้าวเข้าสู่ “ สมัยประวัติศาสตร์ ” ในระยะเวลาไม่เท่ากัน เนื่องด้วยความสามารถของมนุษย์ในการส้างสรรค์อารยธรรมความเจริญมีแตกต่างกัน ดังนี้ สมัยประวัติศาสตร์ในทางสากล จึงแบ่งเป็น 3 ยุคย่อย ๆ ดังนี้

2.2.1 ประวัติศาสตร์สมัยโบราณ เริ่มตั้งแต่ความเจริญของแหล่งอารยธรรมเมโสโปเตเมียอารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์ ( อียิปต์โบราณ ) และอายธรรมกรีก โรมัน ตามลำดับ จนกระทั่งสิ้นสุดลงเมื่อกรุงโรม ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิโรมันถูกตีแตกโดยพวกอนารยชน ในปี พ.ศ. 1019

2.2.2 ประวัติศาสตร์สมัยกลาง เริ่มภายหลังจากที่กรุงโรม ( จักรวรรดิโรมันตะวันตก ) ทุกพวกอนารยชนตีแตกในปี พ.ศ. 1019 จนกระทั่งในปี พ.ศ. 1996 สมัยกลางจึงสิ้นสุดลง เมื่อชนชาติเติร์ก (Turk) ที่นับถือศาสนาอิสลามเข้าโจมตีกรุงคอนสแตนติโนเปิล (จักรวรรดิโรมันตะวันออก)

2.2.3 ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ เริ่มภายหลังจากที่กรุงคอนสติติโนเปิลถูกตีแตก เมื่อปี พ.ศ. 1996 เป็นต้นมา จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2488มีเหตุการณ์สำคัญในยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่หลายประการ อาทิเช่น การปฏิรูปศาสนา การเกิดลัทธิหรือแนวความคิดแบบเสรีนิยม ประชาธิปไตย และคอมมิวนิสต์ ทางด้านเศรษฐกิจ มีการขยายตัวทางด้านการค้าทางเรือสำเภา การแสวงหาดินแดนใหม่ และการปฏิวัติอุตสาหกรรม เป็นต้น


การแบ่งยุคสมัยในประวัติศาสตร์ไทย
แบ่งกว้างๆเป็น 2 สมัย คือ
1. สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ( Prehistory ) แบ่งเป็น 2 ยุค คือ
1. ยุคหิน ( Stone Age)แบ่งเป็น 3 ยุค ย่อย ได้แก่
1.1 ยุคหินเก่าระหว่างประมาณ 800,000-10,000 ปีมาแล้ว มนุษย์ยุคนี้ใช้เครื่องมือหินกะเทาะที่ทำหยาบๆ อาศัยตามถ้ำและเพิงผา ล่าสัตว์ จับปลา เก็บพืชผักผลไม้เป็นอาหาร ยังไม่มีการตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง

1.2 ยุคหินกลางระหว่างประมาณ 10,000-6,000 ปีมาแล้ว มนุษย์ยุคนี้ใช้เครื่องมือหินกะเทาะที่ทำประณีตขึ้นและมีขนาดเล็กลง ยังคงล่าสัตว์ เก็บพืชพรรณตามป่า

1.3 ยุคหินใหม่ระหว่างประมาณ 6,000-4,000 ปีมาแล้ว มนุษย์ยุคนี้ใช้เครื่องมือหินขัด รู้จักเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ทำเครื่องปั้นดินเผา ทอผ้า ทำเครื่องจักรสาน ตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนขนาดเล็ก มีผู้ปกครอง มีการจัดพิธีศพ มีการค้าขายแลกเปลี่ยนและติดต่อกับชุมชนอื่น

2. ยุคโลหะ ( Metal Age )แบ่งเป็น 2 ยุคย่อย คือ

2.1 ยุคสำริดระหว่างประมาณ 4,000-2,500 ปีมาแล้ว มนุษย์รู้จักถลุงแร่และใช้ประโยชน์จากสำริด มีการพัฒนาเทคนิคการทอผ้าและการทำเครื่องปั้นดินเผา เป็นสังคมเกษตรกรรม ชุมชนขยายใหญ่ขึ้น

2.2 ยุคเหล็ก ระหว่างประมาณ 2,500-1,500 ปีมาแล้ว มนุษย์รู้จักถลุงเหล็กและนำมาหล่อหรือตีเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ เป็นสังคมเกษตรกรรมขนาดใหญ่และกลายเป็นเมือง


2.สมัยประวัติศาสตร์ ( History ) การแบ่งยุคสมัยประวัติศาสตร์ของไทย คือ การกำหนดช่วงเวลาเพื่อให้เข้าใจเรื่องราวหรือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในดินแดนไทย โดยทั่วไปการกำหนดช่วงเวลาที่เริ่มต้นและสิ้นสุดของช่วงสมัยใดสมัยหนึ่ง มักจะอ้างอิงเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหรือเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ เช่น การขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งจนถึงปีที่พระองค์สวรรคตหรือสิ้นอำนาจหรือแบ่งตามศูนย์กลางอำนาจการปกครอง เป็นต้นสมัยประวัติศาสตร์ไทยแบ่งเป็นสมัยย่อยๆได้หลายแบบ เช่น


1. แบ่งตามราชธานีการแบ่งแบบนี้นำชื่อราชธานีของไทย ได้แก่ กรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์มาเป็นชื่อยุคสมัย เริ่มตั้งแต่เวลาของรัฐที่มีมาก่อน สุโขทัยให้เป็นสมัยก่อนสุโขทัยดังนี้

- สมัยก่อนสุโขทัย ( ราวพุทธศตวรรษที่ 12 - พุทธศตวรรษที่ 17 )

- สมัยสุโขทัย พ.ศ.1792 - พ.ศ.2006

- สมัยอยุธยา พ.ศ.1893 – 2310

- สมัยธนบุรี พ.ศ.2310 – 2325

- สมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2325 ถึงปัจจุบัน


2. การแบ่งตามราชวงศ์การแบ่งตามราชวงศ์ที่ขึ้นมามีอำนาจการปกครองในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น สมัยอยุธยา แบ่งยุคสมัยตามราชวงศ์ได้ดังนี้
- สมัยราชวงศ์อู่ทอง พ.ศ.1893-1913 และ พ.ศ.1931-1952
- สมัยราชวงศ์สุพรรณภูมิ พ.ศ.1913-1931 และ พ.ศ.1952-2112
- สมัยราชวงศ์สุโขทัย พ.ศ.2112-2172
- สมัยราชวงศ์ปราสาททอง พ.ศ.2172-2231
- สมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง พ.ศ.2231-2310


3. แบ่งตามพระนามพระมหากษัตริย์โดยใช้เกณฑ์การขึ้นครองราชย์องค์หนึ่งไปจนถึงการสิ้นพระชนม์ เช่น

-สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พ.ศ. 1822 ถึง พ.ศ.1841

-สมัยพระนารายณ์มหาราช พ.ศ.2199 ถึง พ.ศ.2231

4. แบ่งตามพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองการแบ่งตามพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง เช่น สมัยอยุธยาอาจแบ่งได้เป็น 3 ตอน คือ- สมัยอยุธยาตอนต้น พ.ศ.1893-1991

- สมัยอยุธยาตอนกลาง พ.ศ.1991-2231

- สมัยอยุธยาตอนปลาย พ.ศ.2231-2310


5. แบ่งตามลักษณะการปกครองเช่น สมัยรัตนโกสินทร์อาจแบ่งย่อยเป็น 2 ยุค คือ

- สมัยรัตนโกสินทร์ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พ.ศ.2325 ถึง พ.ศ.2475

- สมัยรัตนโกสินทร์ยุคประชาธิปไตย พ.ศ.2475 ถึงปัจจุบัน


6. แบ่งตามรัฐบาลหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า จึงมีการแบ่งยุคสมัยตามคณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศในช่วงเวลาต่างๆกัน เช่น

- สมัยรัฐบาลนาย ชวน หลีกภัย พ.ศ.2535-2538

- สมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา พ.ศ.2538-2539

- สมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ พ.ศ. 2539-2540

- สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย พ.ศ.2540-2544

- สมัยรัฐบาลพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร พ.ศ. 2544-2549

- สมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ พ.ศ.2549 – ปัจจุบัน


7. แบ่งตามแนวประวัติศาสตร์สากลช่วงเวลาสมัยประวัติศาสตร์ตามหลักประวัติศาสตร์สากล นิยมแบ่งเป็น 4 สมัย คือ สมัยโบราณ สมัยกลาง สมัยใหม่และสมัยปัจจุบัน สมัยประวัติศาสตร์ไทยแบ่งตามแนวประวัติศาสตร์สากลได้ ดังนี้

- สมัยโบราณ ตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัยจนถึงสิ้นรัชกาลที่ 3 สมัยรัตนโกสินทร์

- สมัยใหม่ ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ถึง พ.ศ.2475 เป็นสมัยปรับปรุงประเทศ

- สมัยปัจจุบัน ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ถึงปัจจุบัน

การนับศักราช

การนับศักราชศักราช หมายถึง ปีที่กำหนดเอาเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งซึ่งสำคัญมากสำหรับจดจารึกไว้ศักราชที่มีกำหนดไว้มี คือ

พุทธศักราช (พ.ศ.)

รัตนโกสินทร์ศก ( ร.ศ.)

จุลศักราช (จ.ศ.)

คริสต์ศักราช(ค.ศ.)

มหาศักราช (ม.ศ.)

ศักราชเหล่านี้เริ่มต้นนับแตกต่างกันการที่จะเทียบศักราชได้จึงต้องนำเอาระยะต่างที่เริ่มนับมาบวกเข้าหรือลบออก ดังนี้ ระยะเวลาที่ต่าง

พุทธศักราช มากกว่า คริสต์ศักราช 543 ปี

พุทธศักราช มากกว่า มหาศักราช 621 ปี

พุทธศักราช มากกว่า จุลศักราช 1,181 ปี

พุทธศักราช มากกว่า รัตนโกสินทร์ศก 2,324 ปี

คริสต์ศักราช มากกว่า มหาศักราช 78 ปี

คริสต์ศักราช มากกว่า จุลศักราช 638 ปี

คริสต์ศักราช มากกว่า รัตนโกสินทร์ศก 1,781 ปี

มหาศักราช มากกว่า จุลศักราช 560 ปี

มหาศักราช มากกว่า รัตนโกสินทร์ศก 1,705 ปี

จุลศักราช มากกว่า รัตนโกสินทร์ศก 1,143 ปี

พุทธศักราช (พ.ศ.) เริ่มนับตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ซึ่งเดิมนับเอาวันเพ็ญ เดือน 6 เป็นวันเปลี่ยนศักราช ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงให้ถือเอาวันที่ 1 เมษายนแทน อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมารัชกาลที่ 8 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เสียใหม่โดยเริ่มนับตามสากลคือ วันที่ 1 มกราคม นับแต่ปี พ.ศ. 2483 เป็นต้นมา นิยมใช้ในประเทศที่นับถือพุทธศาสนาโดยเฉพาะไทย และศรีลังกา

คริสต์ศักราช (ค.ศ.) เริ่มนับเอาตั้งแต่ปีที่พระเยซูเกิดเป็น ค.ศ. 1 ซึ่งเวลานั้น พ.ศ. มีมาแล้วนับได้ 543 ปีการคำนวณเดือนของ ค.ศ. จะเป็นแบบสุรยคติ ดังนั้นวันขึ้นปีใหม่ของ ค.ศ. จะเริ่มในวันที่ 1 มกราคมของทุกปี

มหาศักราช (ม.ศ.)เริ่มนับเอาตั้งแต่ปีกษัตริย์ศักราชวงศ์พระองค์หนึ่งในประเทศอินเดียทรงมีชัยชนะเป็นมหาศักราชที่ 1วิธีการนับวันเดือนปีจะเป็นไปตามสุริยคติ โดยวันขึ้นปีใหม่จะเริ่มเมื่อ 1 เมษายนของทุกปี

จุลศักราช (จ.ศ.) เริ่มนับเมื่อ พ.ศ. ล่วงมาได้ 1,181 ปี โดยนับเอาวันที่พระเถระพม่ารูปหนึ่งนามว่า "บุพโสระหัน " สึกออกจาก การเป็นพระมาเพื่อชิงราชบัล-ลังก์ การนับเดือนปีเป็นแบบทางจันทรคติ โดยจะมีวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่

รัตนโกสินทร์ ศก (ร.ศ.) ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ล่วงมาได้ 2,325 ปี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้บัญญัติขึ้น โดยเริ่มนับเอาวันที่รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างกรุงเทพมหานคร เป็น ร.ศ. 1 และวันเริ่มต้นปี คือวันที่ 1 เมษายน จนต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้เลิกใช้ ร.ศ.)

วิธีการเทียบศักราช

พ.ศ. = ค.ศ. + 543 หรือ ค.ศ. = พ.ศ. - 543

พ.ศ. = ม.ศ. + 621 หรือ ม.ศ. = พ.ศ. - 621

พ.ศ. = จ.ศ. + 1,181 หรือ จ.ศ. = พ.ศ. - 1,181

พ.ศ. = ร.ศ. + 2,324 หรือ ร.ศ. = พ.ศ. - 2,324

แบบทดสอบหลังเรียน

http://quickr.me/TPfE53T