หน่วยการเรียนรู้ที่ 4

บุคคลสำคัญบุคคลสำคัญและผลงานในสมัยกรุงรัตน์โกสินทร์
สมัยต้นรัตนโกสินทร์ได้นำวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของกรุงศรีอยุธยามาใช้ในเกือบ
ทุกด้าน โดยนำมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพสังคมและสถานการณ์บ้านเมือง ตัวอย่างบุคคลสำคัญและผลงานในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น

1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมาหาราช (รัชกาลที่ 1) ทรงโปรดให้ย้าย
ราชธานีจากกรุงธนบุรีมาสร้างกรุงเทพมหานครขึ้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้ทรงสร้าง
พระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้น ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามและพระพุทธรูปโบราณ
ที่ถูกทอดทิ้งให้ชำรุดตามหัวเมืองต่างๆ มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 11 ในด้านศิลปะทรงรวบรวม
ช่างไทยสิบหมู่ที่สืบทอดความรู้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ด้านวรรณกรรมนั้นทรงโปรดให้นิพนธ์วรรณกรรมเรื่อง
รามเกียรติ ส่วนทางด้านเนติธรรมทรงโปรดให้ชำระกฎหมายที่ใ่ช้มาตั้งแต่อยุธยาให้มีความเที่ยงธรรมและ
ครอบคลุมมากขึ้นเรียกว่ากฎหมายตราสามดวง

2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ในสมัยรัชกาลที่ 2
บ้านเมืองเริ่มสงบจากภัยข้าศึก ความเจริญทางวัฒนธรรมจึงมีความโดดเด่นและมีมากมายหลายด้าน โดยเฉพาะ
ทางด้านวรรณกรรม รัชกาลที่ 2 ทรงมีพระปรีชาสามารถในการประพันธ์เป็นอย่างสูง ทรงนิพนธ์วรรณคดีเรื่อง
อิเหนา สังข์ทอง ไกรทอง กาพย์เห่เรือ เสภาขุนช้างขุนแผน ฯลฯ

3 สุนทรภู่ ในสมัยรัชกาลที่ 2 ศิลปินที่มีชื่อเสียงทางการประพันธ์อย่างมากที่สุดของไทย
ถือว่าเป็นกวีของประชาชน คือ สุนทรภู่ ท่านมีผลงานทางวรรณกรรมหลายประเภท คือ นิราศ บทละคร เสภา
กลอน กาพย์ บทประพันธ์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี คือ วรรณคดีเรื่อง “พระอภัยมณี”

4 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้รับเอา
วัฒนธรรมจีนมาดัดแปลงผสมผสานกับวัฒนธรรมไทยเป็นอันมาก โดยเฉพาะงานการสร้างศิลปวัตถุและ
วัดวาอาราม เนื่องจากทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา รัชสมัยของพระองค์จึงมีการสร้างและทำนุบำรุงวัดใน
พุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก งานศิลปกรรมวัฒนธรรมมุ่งสร้างเพื่อถวายแด่พระพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังทรง
สนับสนุนให้นักปราชญ์จารึกวรรณคดี ตำรา ความรู้ที่สำคัญๆ ไว้บนแผ่นศิลาติดไว้ตามศาลารายรอบพระอุโบสถ
และรอบพระมหาเจดีย์บริเวณวัดพระเชตุพน เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและรักษาวิชาการเหล่านั้นไว้
ไม่ให้สูญหายไป

5 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัว ทรงมีนโยบายเปิดประเทศและรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกมาปรับปรุงผสมผสานกับวัฒนธรรมไทย
ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่ตระหนักถึงความสำคัญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทรงได้รับการยกย่องให้เป็น
“พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”

6 เซอร์ จอห์น เบาริง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยได้ทำ
สนธิสัญญาเบาริงกับประเทศอังกฤษ โดยหัวหน้าคณะทูตที่มาเจรจา คือ เซอร์ จอห์น เบาริง ซึ่งสนธิสัญญาฉบับนี้
เป็นต้นแบบในการทำสัญญากับชาติตะวันตกอื่น แม้ผลของสนธิสัญญาเบาริงจะมีผลกระทบทางด้านการเมือง
เพราะชาวต่างชาติที่มาติดต่อกับไทยไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฏหมายไทยก็ตาม แต่ก็ทำให้ระบบเศรษฐกิจ
ไทยเปลี่ยนจากการผลิตในครัวเรือนมาเป็นการผลิตเพื่อการค้า ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงสังคมในเรื่อง
การยกเลิกการเกณฑ์ไพร่และแรงงานในเวลาต่อมา เซอร์ จอห์น เบาริง ยังได้มีบทบาทเป็นผู้สำเร็จราชการดูแล
กงสุลไทยในยุโรป และเป็นราชทูตแห่งสยามไปเจริญสนธิสัญญาการค้ากับประเทศนอร์เวย์ สวีเดน และเบลเยี่ยม

7 หมอบรัดเลย์ หมอบรัดเลย์เป็นมิชชันนารีชาวอเมริกันที่มีบทบาทสำคัญต่อ
ประวัติศาสตร์ไทย คือท่านได้สั่งแท่นพิมพ์ภาษาไทยเข้ามาตั้งโรงพิมพ์แห่งแรก ทำให้กิจการหนังสือพิพม์เกิดขึ้น
ในประเทศไทย หนังสือพิมพ์ฉบับแรกในเมืองไทยคือ บางกอกรีคอร์เดอร์ เป็นของชาวต่างประเทศ ส่วนวารสาร
ฉบับแรกของไทยออกโดยทางราชการไทยได้แก่ ราชกิจจานุเบกษา ความก้าวหน้าทางการพิมพ์ทำให้มีการเผยแพร่
ประวัติ ตำนาน ขนบธรรมเนียม ความรู้และศาสนา ระหว่างชาวไทยและชาวต่างชาติ ก่อให้เกิดความเข้าใจ
ขนบธรรมเนียมประเพณีของกันและกัน ช่วยให้การติดต่อระหว่างกันสะดวกสบายขึ้นเป็นอันมาก
นอกจากนี้หมอบรัดเลย์ได้เริ่มเป็นผู้วางรากฐานวิชาการแพทย์สมัยใหม่ในประเทศไทย
โดยได้เริ่มเป็นผู้ทำการผ่าตัดครั้งแรกในเมืองไทย

8 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงได้รับการยกย่องเป็น
พระปิยะมหาราช ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยพระปรีชาสามารถสุขุมคัมภีร์ภาพจนรอดพ้นจากลัทธิ ล่าอาณานิคม
ทรงปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมไทยให้สอดคล้องกับตะวันตก ทรงมีพระราชดำริให้เลิกทาส
เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมในเรื่องสิทธิมนุษยชนให้มีความเสมอภาคในสังคมไทย นอกจากนี้ยังทรงปรับปรุง
การคมนาคม การสื่อสาร การศึกษา จนเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศไทยมาจนทุกวันนี้

9 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ในรัชสมัยของ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) อิทธิพลของวัฒนธรรมต่างชาติ กำลังรุกล้ำหนัก
จึงทรงปรับปรุงและปลูกฝังวัฒนธรรมไทยให้คนไทยรักชาติ มีสำนึกในความรับผิดชอบต่อชาติและนิยมไทย
มากขึ้น ทรงตั้งกองเสือป่าเพื่อสนับสนุนและเผยแพร่อุดมการณ์ชาตินิยมในหมู่สมาชิก